คลินิกประเมินก่อนปลูกถ่ายไต Pre-Kidney Transplantation Clinic

การปลูกถ่ายไต เป็นวิธีรักษาบำบัดทดแทนไตของผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เพราะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยผู้ป่วยควรได้รับประเมินความพร้อมในการผ่าตัดปลูกถ่ายไต และได้รับการดูแลให้มีสภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์เพียงพอที่จะได้รับการผ่าตัดตลอดเวลา เพื่อให้การผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ผลดีที่สุด

สถานที่ให้บริการ: อาคารกัลยาณิวัฒนานุสรณ์ (กว.) ชั้น 5

วันและเวลาให้บริการ:

  • วันพุธ เวลา 9.00-16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

การติดต่อ: โทร. 043-348888 ให้ operator ต่อ 67232 ,67235; เบอร์มือถือ 081-1450387 (ในเวลาราชการ)

เกณฑ์การประเมินผู้ป่วยเข้าคลินิกรอปลูกถ่ายไต

คลินิกรอปลูกถ่ายไต ให้บริการการตรวจประเมินผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต ที่มีความประสงค์ในการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยอายุรแพทย์โรคไตเป็นผู้ประเมินความพร้อมของผู้ป่วยในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตก่อนขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยรอปลูกถ่ายไต โดยแบ่งแนวทางการเตรียมผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตตามชนิดของผู้บริจาคไต ได้แก่

1. จากผู้บริจาคไตที่มีชีวิตอยู่ (living donor) แบ่งออกเป็น

1.1 ผู้บริจาคไตที่มีชีวิตอยู่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดกับผู้รับไต (living related donor) ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง ป้า น้า อา หลาน ซึ่งสืบค้นได้ทางกฎหมาย หรือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น HLA และ/หรือ DNA จากบิดา มารดา

1.2 ผู้บริจาคไตที่มีชีวิตอยู่ไม่มีความสัมพันธ์กันทางาสายเลือด (living unrelated donor) ได้แก่ คู่สามี ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสกันมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี หรือมีบุตรร่วมกัน

2. จากผู้บริจาคไตที่มีภาวะสมองตาย (decease donor) เป็นผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะสมองตาย เช่น ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุต่างๆ ที่ผู้ป่วยหรือญาติแจ้งความประสงค์ที่จะบริจาคไตไว้ ซึ่งจะไม่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดกับผู้รับไต โดยไตที่ได้รับมาจะผ่านการจัดสรรจากสภากาชาดไทย กรณีรอรับการบริจาคไตจากผู้บริจาคไตที่มีภาวะสมองตาย มีเกณฑ์การรับผู้ป่วยเข้ารับบริการ ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย อายุ 18-65 ปี ที่รักษาบำบัดทดแทนไตแล้ว (ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้อง) อย่างน้อย 4 สัปดาห์
  2. สามารถติดตามการรักษาสม่ำเสมอทุก 3-4 เดือน
  3. ไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ได้แก่

- โรคไตที่การทำงานของไตสามารถฟื้นได้

- มะเร็งที่ยังไม่หายขาด กรณีที่มีประวัติมะเร็งต้องได้รับการรักษาจนหายขาดแล้วอย่างน้อย 2 ปี (ยกเว้นมะเร็งที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นซ้ำ ต้องได้รับการรักษาจนหายขาดแล้วอย่างน้อย 5 ปี)

- มีการติดเชื้อเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เช่น วัณโรค ถ้าเคยเป็นต้องได้รับการรักษาจนหายขาด และรออีกอย่างน้อย 1ปี

- โรคตับแข็งระยะล้มเหลว หรือโรคตับแข็งที่มีอาการรุนแรง (ยกเว้นกรณีผู้ป่วยอยู่ในโครงการปลูกถ่ายไตพร้อมกับการปลูกถ่ายตับ)

- โรคหัวใจและปอดที่มีอาการรุนแรง

- โรคเอดส์

- มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือชนิดซีที่ไม่ได้รับการรักษา

- คาดว่าผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตไม่เกิน 1 ปี

- โรคทางจิตเวชที่ยังควบคุมไม่ได้

- มีการใช้สารเสพติด

กรณีรับการบริจาคไตจากผู้บริจาคไตที่มีชีวิต

การประเมินผู้บริจาคไตที่มีชีวิต ในประเทศไทย ผู้บริจาคอวัยวะจะต้องเป็นญาติสายเดียวกัน หรือเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือมี หลักฐานยืนยันอื่นๆ ตามที่แพทยสภากําหนดโดยมีข้อกําหนดเบื้องต้นดังนี้

1. หมู่เลือดต้องเข้ากันได้กับผู้รับไต กล่าวคือ ผู้บริจาคหมู่เลือดโอ ให้ได้กับทุกหมู่เลือด ส่วนถ้าผู้รับไตเป็น หมู่เอบี รับได้จากทุกหมู่เลือด อนึ่ง ในอนาคต เมื่อมีความพร้อม รพ.ศรีนครินทร์อาจพิจารณาให้การ บริการ beyond blood group

2. มีอายุตั้งแต่ 20-50 ปี (ผู้ป่วยที่อายุ > 50 ปีแพทย์จะพิจารณาความพร้อมของผู้ป่วยเป็นรายๆ)

3. ไม่มีโรคเบาหวาน

4. ไม่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก (ใช้ยาลดความดันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป)

5. ไม่มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ (ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน)

6. มีอัตราการกรองของไตมากกว่า 70- 90 ml/min/1.73 m2

7. มีดัชนีมวลกายไม่มากกว่า 35 kg/m2

8. ไม่มีโรคร้ายแรง/เรื้อรังที่รุนแรง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง, โรคหลอดเลือดหัวใจที่ยังไม่ได้รับการรักษา, โรคตับเรื้อรัง, โรคมะเร็ง, โรคจิตเวชหรือติดยาเสพติด

9. ไม่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ชนิดซีหรือไวรัส HIV

10. ผ่านการประเมินทางจิตเวช

11. ไม่เป็นการซื้อขายไต

กิจกรรมการบริการ

ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถมาติดต่อขอเข้าร่วมโครงการรอปลูกถ่ายไต โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลต้นสังกัดที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต้องเตรียมเอกสาร Pre waiting list KT Investigation และลงข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบ online waiting list ให้ครบถ้วนเพื่อขอวันนัดจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์

2. พยาบาลโรงพยาบาลศรีนครินทร์ตรวจสอบข้อมูลของผู้ป่วยที่เจ้าหน้าที่ต้นสังกัดลงข้อมูลไว้ที่ระบบ online waiting list ถ้าครบถ้วน จะลงวันนัดผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยมามาพบแพทย์โรคไตที่ คลินิกโรคไต อาคารกัลยาณิวัฒนานุสรณ์ ในวันพุธช่วงเช้า เวลา 8.00 – 12.00 น.

3. ผู้ป่วยผู้ป่วยต้องเตรียมเอกสารและนำมาในวันนัดพบแพทย์ ดังนี้

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมตัวจริง

- ผู้ป่วยทุกสิทธิ์ต้องมีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยในโครงการหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในใบส่งตัวต้องมีตราประทับรับรองสิทธิ์ด้วย

- ผู้ป่วยสิทธิ์ประกันสังคม ต้องนําใบรับรองสิทธิ์ปลูกถ่ายไตมาด้วย โดยยื่นเรื่องขออนุมัติสิทธิปลูกถ่ายไตจาก สํานักงานประกันสังคมล่วงหน้า จนได้รับอนุมัติเอกสาร จึงจะทําการสมัครได้ มิฉะนั้นจะถือว่าเอกสารไม่ครบถ้วน

- ผลการตรวจเบื้องต้นจาก รพ. ต้นสังกัด ตามที่กําหนดในแบบฟอร์ม Pre- waiting list investigation

4. หลังจากผ่านการประเมินเบื้องต้นจากแพทย์ที่คลินิกโรคไต ว่าไม่มีข้อห้ามในการปลูกถ่ายไตแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังเงื่อนไขสภากาชาดไทย/ ข้อดีข้อเสียของการปลูกถ่ายไต จากอายุรแพทย์โรคไตหรือทีมพยาบาลคลินิกรอปลูกถ่ายไต แพทย์จะทําการระบุว่าผู้ป่วยสามารถเข้าโครงการได้

5. ส่งผู้ป่วยพบพยาบาลที่รับผิดชอบดูแลคลินิกรอปลูกถ่ายไต เพื่อกรอกประวัติผู้ป่วยในโครงการเปลี่ยนไต (ชุดรับใหม่), ลงข้อมูลแบบลงทะเบียนรอรับไต ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยเข้าโครงการ, เจาะเลือดส่งตรวจ HLA typing รวมถึงให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยรอปลูกถ่ายไตและแนวทางการปฏิบัติเมื่อถูกตามมารับการปลูกถ่ายไต, การมารับการตรวจตามนัดและการส่งเลือดรอไตที่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบเอง